ย่านการค้าหกแผ่นดิน “สามแพร่ง” รัตนโกสินทร์

Last updated: 23 พ.ย. 2564  |  3030 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ย่านการค้าหกแผ่นดิน “สามแพร่ง” รัตนโกสินทร์

ย่านการค้าหกแผ่นดิน “สามแพร่ง” รัตนโกสินทร์

กรุงเทพฯ มีชุมชนเก่าแก่มากมาย แต่ละแห่งล้วนมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ “ย่านแพร่ง” หรือที่คนทั่วไปมักเรียก “ย่านสามแพร่ง ชื่อแปลกๆ อยู่แถวถนนอัษฎางค์และถนนตะนาว ใกล้กับเสาชิงช้า ประกอบด้วย 
• แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ 
• ย่านสามแพร่งมีซอยเล็กๆ เชื่อมต่อถึงกัน เดินไปมาหาสู่กันได้ทะลุทุกตรอก ซอก ซอย 
• ความคลาสสิกของที่นี่ คือ ตึกเก่าสไตล์สถาปัตยกรรมยุโรป แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต 
• ย่านสามแพร่งเป็นชุมชนหนึ่งที่อยู่ใกล้เขตพระบรมมหาราชวังและเคยเป็นวังเก่าของพระบรมวงศานุวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้พระราชทานที่ดินบริเวณนี้ให้เป็นที่พักอาศัยของบรรดาข้าราชบริพาร และช่างฝีมือในพระราชวัง 
• เมื่อชนชั้นสูงเหล่านั้นสิ้นพระชนม์ประกอบกับบางส่วนได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ชาวจีนจึงอพยพเข้ามาอยู่อาศัยในย่านนี้แทน 
• ย่านนี้จึงมีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่จำนวนมาก ต่อมาลูกหลานชาวจีนเหล่านี้เติบโตก็ได้ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่ยังทิ้งร่องรอยย่านการค้าขายให้ได้เห็น 

1.  “แพร่งภูธร”  



• “แพร่งภูธร” มาจากพระนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ เจ้าของวังบริเวณหัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้า ถนนตะนาว 
• ครั้นสิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างตึกแถวและตัดถนนผ่านภายในวัง และตั้งชื่อว่า “ถนนแพร่งภูธร” 
• ต่อมาแพร่งภูธรเป็นย่านการค้าจรดถนน 3 ด้าน คือ ถนนอัษฎางค์ ถนนบำรุงเมือง และถนนตะนาว 
• ภายในวังจัดสรรที่ดินสร้างตึกแถวสไตล์สถาปัตยกรรมยุโรป จุดเด่นของตึกแถวย่านแพร่งภูธรคือ ตึกเรียงรายล้อมรอบเกาะกลางสวนหย่อม 
• ตึกที่น่าสนใจ คือ อนุสรณ์สมเด็จพระปิตุจฉาสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสถานีอนามัยแห่งแรกของไทย คือ “สุขุมาลอนามัย” ก่อตั้งในปี 2466 
• ตึกแถวย่านแพร่งภูธรมีลักษณะเป็นตึกแถวสูงสองชั้นโอบล้อมพื้นที่ตามแนวที่ตั้งตัวตำหนักเดิม การวางแนวตึกแถวให้หันหลังชนกับตึกแถวบริเวณริมถนนบำรุงเมือง ถนนอัษฎางค์ ถนนตะนาว และถนนแพร่งนรา 
• ในปัจจุบันย่านแพร่งภูธรกลายเป็นย่านการค้าการขาย มีร้านค้ามากมาย เช่น ร้านขายเครื่องดนตรีสากล ร้านขายเครื่องเงิน ร้านขายขนมหวาน แต่ละร้านเปิดขายมานานกว่า 100 ปี


2. “แพร่งนรา” 



• ถัดจากแพร่งภูธร เดินตามถนนอัษฎางค์ แล้วมองไปฝั่งตรงข้ามจะเห็นอาคารสไตล์ยุโรปตั้งเด่นอยู่ริมคลองหลอด 
• เดินไปเรื่อยๆ จะพบกับ “แพร่งนรา” แพร่งนี้เป็นย่านการค้าที่สำคัญตั้งอยู่ระหว่างวัดสุทัศนเทพวราราม กับ วัดมหรรณพาราม ระหว่างถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์ 
• แพร่งนราตั้งอยู่ทางทิศเหนือของแพร่งภูธรและทางทิศใต้ของแพร่งสรรพศาสตร์ 
• สองข้างทางของถนนแพร่งนราจะเห็นตึกแถวเก่าๆ สไตล์ยุโรปเรียงรายสวยงาม 
• ภายในถนนแพร่งนราเป็นวังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ 
• ความคลาสสิกของแพร่งนรา คือ ภายในวังเดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ตัวอาคารมีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ตกแต่งอย่างสวยงาม  


• แพร่งนราเคยเกิดไฟไหม้มาแล้ว น่าเสียดายที่สถาปัตยกรรมยุโรปที่เคยสวยงามได้ถูกเผาทำลายไปบางส่วน
• ที่ยังเหลือให้เห็น “โรงละครปรีดาลัย” โรงแสดงละครร้อง เป็นโรงมหรสพแห่งแรกของไทย 
• ในครั้งนั้นได้ตัดถนนผ่านและสร้างตึกแถวสไตล์สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกปนตะวันออก (จีน-โปรตุเกส) มีระเบียงไม้ฉลุลายขนมปังขิงเรียงรายตามเชิงชายคาโดยรอบ สถานที่แห่งนี้มีความสำคัญกับแพร่งนราอย่างมาก 
• ต่อมาหลังจากกรมพระนราธิปฯ สิ้นพระชนม์ โรงละครได้ตกเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
• และมีผู้เช่าทำเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ปัจจุบันไม่ได้เปิดให้มีการเรียนการสอนแล้ว โดยปิดกิจการตั้งแต่ปี 2538 แต่พื้นที่บางส่วนของอาคารได้ทำเป็นสำนักงานทนายความของคนในตระกูลตะละภัฏ  
• ความงดงามของสถาปัตยกรรม แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เคยได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 6 หากท่านใดสนใจ สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ และทางโรงเรียนเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้พื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วย  

3. “แพร่งสรรพศาสตร์”   


• ถัดจากแพร่งนราไปทางทิศเหนือจะพบกับ “แพร่งสรรพศาสตร์” 
• “แพร่งสรรพศาสตร์” มาจากพระราชทินนามของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ พระนามเดิมคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ พระราชโอรสใน รัชกาลที่ 4
• พระองค์ทรงสนพระทัยกล้องถ่ายรูป และมีผลงานถ่ายภาพยนตร์เป็นคนแรกของไทย พระองค์ทรงกำกับกรมช่างมหาดเล็ก หรือ “ช่างทองหลวง” และได้ให้ใช้วังแห่งนี้เป็นสถานที่ราชการด้วย 
• ถนนแพร่งสรรพศาสตร์เป็นถนนที่สร้างตัดผ่านพื้นที่วังเดิม เชื่อมถนนตะนาวกับถนนอัษฎางค์
• อาคารต่างๆ ที่เคยมีก็สิ้นสภาพไปตามกาลเวลา สิ่งที่เหลืออยู่มีเพียงประตูวังสูงใหญ่ประมาณตึกสองชั้น
• ปรากฏให้เห็นร่องรอยของวังเดิมอันโอ่อ่าและกว้างใหญ่ ก่อสร้างตามสไตล์สถาปัตยกรรมยุโรปผสมสถาปัตยกรรมไทย 
• สังเกตได้จากประตูบานใหญ่คล้ายว่ามีสามช่อง ทำเป็นวงโค้ง (Arch) ตามสไตล์สถาปัตยกรรมฝรั่งเศส


4. ย่านสามแพร่งในปัจจุบัน

• ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ย่านสามแพร่งได้กลายเป็นที่ตั้ง 3 กระทรวงใหญ่ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงยุติธรรม 
• ย่านสามแพร่งมีร้านอาหารจำนวนมาก ให้บริการข้าราชการและผู้มาติดต่อ รวมถึงเป็นย่านที่พักค้างแรมของนักท่องเที่ยวด้วย 
• นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งการค้าขายที่สำคัญ จำพวกเครื่องแบบข้าราชการ นักเรียน และนักศึกษา ตลอดจนเครื่องหนัง แว่นตา นาฬิกา และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ 
• ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีห้างเกิดขึ้นครั้งแรก เรียกชื่อกันติดปากว่า “แบดแมน (แฮร์รี่ เอ แบดแมน แอนด์ โก)” เปิดกิจการอยู่ใกล้กับกระทรวงมหาดไทย ปัจจุบันปิดกิจการไปแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความรุ่งเรืองทางการค้าเมื่อร้อยกว่าปีก่อนให้ได้เห็น
• ย่านสามแพร่งปรากฏความเป็นชุมชนสังคมเมืองตะวันตกให้เห็นเด่นชัด โดยเฉพาะกิจกรรมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวิชาชีพและการค้าขาย 
• ย่านสามแพร่งถือว่าเป็นย่านการค้าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และย่านที่อยู่อาศัย ยาวนานร้อยกว่าปี 
• สิ่งสำคัญที่ทำให้ความเป็นย่านการค้าที่เคยรุ่งเรืองยังปรากฏร่องรอยให้เห็นคือ ผู้คนในย่านนี้ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมยุโรปผสมกับสถาปัตยกรรมจีนและไทย จึงร่วมมือกันพยายามอนุรักษ์ความคลาสสิกให้คงอยู่ตลอดไป 
• นับว่าเป็นชุมชนตัวอย่างของการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันเก่าแก่และมีคุณค่าให้ลูกหลานได้เห็นสืบต่อกันไป


ขอบคุณแหล่งข้อมูล: th.wikipedia.org และ pexels.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้