ประวัติความเป็นมา ที่มีเรื่องราวอายุมากกว่า 200 ปี ของ วัดพระยาไกร ที่สูญหาย

Last updated: 23 พ.ย. 2564  |  4071 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประวัติความเป็นมา ที่มีเรื่องราวอายุมากกว่า 200 ปี ของ วัดพระยาไกร ที่สูญหาย

ผมเป็นเด็กคนหนึ่งที่โต อาศัยอยู่ในพื้นที่แขวงวัดพระยาไกรตั้งแต่เกิด ด้วยความสงสัยในวัยเด็กจึงสอบถามผู้ใหญ่ที่อยู่ในชุมชน...ว่า "วัดพระยาไกร" คืออะไร??? วัดอยู่ที่ไหน??? และได้รับคำตอบว่า... "วัดได้พังลงเพราะสงครามโลกครั้งที่2 บ้างก็บอกถูกทิ้งระเบิดพังไปนานแล้ว" เมื่อได้ฟังจึงเกิดความสงสัย โตขึ้น เริ่มค้นคว้าพบข้อมูลที่น่าสนใจ ผมจึงขออนุญาตินำข้อมูลที่ได้มานี้ แชร์เรื่องราวความเป็นมา ตั้งแต่การสร้างวัด จนถึงการหายไปของวัดพระยาไกรให้ทุกท่านได้ทราบ ผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ โอกาสนี้…

เริ่มต้นในปีพุทธศักราช 2325

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และให้ชื่อใหม่ว่า “กรุงเทพฯ” ครั้งนั้น พระบามสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้มีรับสั่งโปรดเกล้า ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองและการพระศาสนา โปรดเกล้าฯให้สร้างและปฏิสังขรณ์วัดในพระนครมากมายหลายแห่ง รวมถึงบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา และสั่งให้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณที่ถูกทิ้งร้างอยู่ตามหัวเมืองทางเหนือ ส่วนมากชำรุดจากศึกสงคราม เชิญลงมาประดิษฐานตามวัดต่างๆในพระนครเป็นจำนวนมากหลายร้อยองค์ เพื่อเป็นการรักษาพระพุทธรูปโบราณมิให้สูญหาย และพระราชทานพระบรมราชานุญาติ ให้เจ้านายรวมทั้งขุนนางผู้ใหญ่ถือปฏิบัติด้วย

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2384

สมัยรัชกาลที่3 ได้ทรงมีรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นใหม่ บูรณะและปฏิสังขรวัดเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมรวมทั้งสิ้น38วัดในเขตพระนครและพื้นที่โดยรอบ ในครั้งนั้น ทรงมีรับสั่งมอบหมายให้ พระยาโชฎึกราชเศรษฐีเจ้ากรมท่าซ้าย เป็นหัวหน้าคนจีนควบคุมคนจีนในไทยของรัชกาลที่3 และในเวลาต่อมา ได้รับตำแหน่งเป็นพระยาไกรโกษา(บุญมา) แต่งตั้งในปีพุทธศักราช 2353 ทรงมอบหมายให้รับหน้าที่สร้างวัดขึ้น1วัด รวมถึงบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากบริเวณที่จะก่อสร้างนี้พบว่า มีอารามตั้งอยู่1หลัง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นก่อนปี พุทธศักราช 2344 แต่เป็นเพียงอารามเล็กๆเท่านั้น ในอารามแห่งนั้นยังพบมีพระพุทธรูปอยู่ 2 องค์ ประดิษฐานอยู่ภายในอารามแห่งนี้

บริเวณอารามเดิมรวมถึงวัดที่พระยาไกรโกษาได้รับมอบหมายให้สร้างขึ้นใหม่นี้ อยู่บนที่ดินของพระยาไกรโกษาอยู่เดิมแล้ว ตั้งอยู่ติดชายน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเนื้อที่ประมาณ 100ไร่ เมื่อสร้างเสร็จจะมีพระอุโบสถ และวิหารตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณโดยรอบวัดนั้น ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมารายูที่อพยพมาจากทางใต้ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อีกส่วนหนึ่งมาจากการปราบกบฏ อพยพเทครัวมายังบริเวณนี้ และยังพบเห็นการอยู่อาศัยของผู้ที่นับถือศาสนาอิลามได้ในปัจจุบัน ทุกวันนี้ กลายเป็นที่ตั้งของโครงการ เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟอนท์

พระอุโบสถและวิหารที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ตัวอาคารเป็นศิลปะและเทคนิคการสร้างวัดแบบในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการประยุกต์ดัดแปลงศิลปะจีนผสมผสานกับศิลปะไทย เกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการขนานนามว่า “ศิลปะแบบพระราชนิยม” วัดพระยาไกรนั้นมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเหมือน วัดราชโอรสฯ เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร


วัดพระยาไกร

ถูกเรียกชื่อตามราชทินนามของผู้สร้างวัดคือ พระยาไกรโกษา โดยพบมีข้อมูล "ในหนังสือเซอร์เซมสบรุก (Sir James Brooke เจมส์ บรูก : 29 เมษายน พ.ศ. 2346 – 11 มิถุนายน พ.ศ. 2411) ทูตอังกฤษที่เดินทางเข้ามาขอแก้ไขหนังสือสัญญาในรัชกาลที่3 เมื่อเดือน9 ปีจอ พุทธศักราช 2393 ได้กล่าวถึงพระยาโชฎึกราชเศรษฐีว่า ต่อมาได้เป็นพระยาไกรโกษาในสมัยรัชกาลที่4 เป็นผู้สร้างวัดโชตินาราม ซึ่งภายหลังเรียกกันว่าวัดพระยาไกรตามราชทินนามของท่าน การเรียกชื่อวัดพระยาไกรนั้น ยังคงใช้อยู่อาจด้วยเนื่องจากเป็นภาษาปาก ยังคงคำเรียกและเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ จนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อสร้างวัดพระยาไกรแล้วเสร็จ พระยาไกรโกษาถวายขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่3 มีนามว่าวัดโชตินาราม

ในสมัยนั้น วัดพระยาไกรหรือวัดโชตินาราม เป็นวัดที่ได้รับการอุปถัมภ์ มีหลักฐานตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่3 จุลลศักดิ์ราช1213บันทึกไว้ว่า วัดพระยาไกรได้รับการยกให้เป็นพระอารามหลวง นอกจากนี้พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ได้รับกิจนิมนต์ไปแสดงธรรมและฉันภัตตาหารในพระราชวังตลอดรัชกาล

ชื่อวัดโชตินาราม แปลว่า "อารามแห่งความรุ่งเรื่อง" น่าจะมาจากคำว่า "โชฎึก" เพราะคำว่า "โชฎึกราชเศรษฐี" นี้เข้าใจว่า จะตั้งขึ้นตามคำเก่าที่ไทยเราใช้เรียกมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย อ้างอิงหนังสือไตรภูมิพระร่วงได้กล่าวถึง เศรษฐีผู้หนึ่งที่มีชื่อว่าโชติเศรษฐี ว่าเป็นเศรษฐีร่ำรวยมหาศาลเลยทีเดียว คำว่าโชติ เป็นภาษาบาลี แปลว่าผู้มีความรุ่งเรือง ผู้มีความสว่างไสว ดังนั้นชื่อ "วัดโชตินาราม" จึงมีที่มาจากผู้สร้างในตำแหน่งโชฎึกราชเศรษฐี เหมือนธรรมเนียมการสร้างวัดแต่ครั้งเก่า ที่นิยมใส่ชื่อผู้สร้าง ชื่อผู้บูรณะ เป็นชื่อวัดนั้นๆ

หลังสร้างและถวายวัดเสร็จไม่นาน พระยาไกรโกษา เสียชีวิตลง ในเวลานั้น พระยาไกรโกษามีเพียงภรรยาและไม่มีผู้สืบทายาท พระยาไกรโกษาได้ติดหนี้พระคลังหลวงอยู่เป็นจำนวน100ชั่ง ภรรยาพระยาไกรโกษา จึงยกที่ดินของวัดทั้งหมดให้พระคลังหลวงเป็นการชดใช้หนี้สิน ที่ดินและวัดจึงตกเป็นของหลวงตั้งแต่เวลานั้น


ปีพุทธศักราช 2404

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่4 ทรงรับสั่งให้สร้างถนนเจริญกรุงขึ้น เพื่อความสะดวกในการสัญจรเดินทาง ถนนนั้นได้ตัดผ่านที่ดินของวัดพระยาไกร ถนนได้แบ่งที่ดินวัดออกเป็น2แปลง จาก 100ไร่ กลายเป็น ที่ดินฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา70ไร่ และที่ดินอีกฝั่งถนนประมาณ30ไร่

ต่อมาวัดโชตินารามหรือที่ยังคงเรียกติดปากชาวบ้านว่า "วัดพระยาไกร" มีสภาพกลายเป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะท่านพระยาไกรโกษาไม่มีทายาทสืบสายสกุล ขาดผู้ดูแลอุปถัมภ์วัด บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นวัดที่รกร้างว่างเปล่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่4 วัดนี้ก็ไม่มีเจ้าอาวาสปกครองแล้ว เสนาสนะสงฆ์ปรักหักพังชำรุดทรุดโทรมยากแก่การบูรณะ รวมไปถึงพระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น และหลวงพ่อสัมฤทธิ์ ก็ชำรุดทรุดโทรมลงตามลำดับ บริเวณภายในวัดก็กลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเนื่องจากไม่มีผู้ดูแลรักษา

ภายหลังจากที่มีการตัดถนนเจริญกรุง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้ บริษัท East Asiatic สัญชาติเดนมาร์ก เช่าที่บริเวณริมน้ำเพื่อทำโกดังซุงและอู่ต่อเรือเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 วัดพระยาไกรก็เริ่มชำรุดทรุดโทรมหนัก ดังมีบันทึกกล่าวไว้ว่า หลังคาวิหารได้พังลงเป็นที่น่าติเตียน โปรดให้สืบหาบุตรหลานผู้สร้าง จนพบจมื่นเด็กชายในราชการ เรียกมาสอบถามแล้วจะเห็นเหลือกำลัง พระสงฆ์ก็เหลืออยู่เพียง4-5 รูป ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนั้นส่วนใหญ่เป็นหมู่คนต่างประเทศ และต่างศาสนา



ปีพุทธศักราช 2437

มีคนขอซื้ออู่ต่อเรือนี้ จากพระยาอิศรานุภาพ(เอี่ยม บุญนาค) ผู้ซึ่งอ้างว่าได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระปิ่นเกล้า แต่กระทรวงการคลังในเวลานั้นคัดค้านว่า ที่ดินดังกล่าวเดิมเป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อเลื่อมสภาพ ย่อมต้องตกกลับเป็นของหลวง ซึ่งกรมอัยการเห็นชอบ และไม่ได้ขายในครั้งนั้น


ปีพุทธศักราช 2440

บริษัท East Asiatic ประสงค์จะขอเช่าที่ต่อเพื่อทำอู่ต่อเรือและโรงเลื่อย รัชกาลที่5 ทรงเห็นชอบให้บริษัท East Asiatic ทำการเช่าต่อเป็นเวลา20ปี เพื่อนำค่าเช่าที่ได้ ใช้ในการดูแลสถานที่ต่อไป ต่อมาในปีพุทธศักราช2450พบว่า บริษัท East Asiatic กระทำการละเมิดสัญญา โดยการใช้โบสถ์และวิหารเป็นโกดังเก็บของ จึงทำการปรับขึ้นราคาค่าเช่า



ปีพุทธศักราช 2461

เจ้ากรมกัลปนา กระทรวงธรรมการเจ้าของสัญญาเช่าพบว่า บริษัท East Asiatic ได้ใช้โบสถ์และวิหาร เป็นสถานที่บรรจุสุรา ทำผิดจากสัญญาที่ตกลงไว้ จึงทำการเปรียบเทียบปรับ และให้บริษัท East Asiatic ย้ายอุปกรณ์ออกไปในทันที จากการกระทำนี้ทำให้อดีตวัดพระยาไกรที่เคยเป็นถึงพระอารามหลวง คงสภาพทรุดโทรมหนักหนาสาหัส



วัดพระยาไกรหรือวัดโชตินาราม

เมื่อนานวันถูกทิ้งร้างจะด้วยเหตุผลในเรื่องของภูมิศาสตร์พื้นที่อยู่ติดชายน้ำ ได้รับความเสียหายแลยากแก่การบูรณะ จึงถูกทิ้งร้างไปในที่สุด เมื่อสภาพการณ์ถูกทิ้งร้าง จึงได้มีการย้ายเสนาสนะมาร่วมสร้างกับวัดไผ่เงิน และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไผ่เงินโชตนารามในปัจจุบัน แม้เสนาสนะจะไม่มี แต่ชื่อวัดและที่ดินอันเป็นที่ศาสนาสมบัติกลางยังมีอยู่ ชื่อวัดยังปรากฏในทำเนียบวัด จนกระทั่งปีพุทธศักราช2539 วัดพระยาไกรหรือวัดโชตินาราม ได้ถูกหน่วยงานราชการที่ดูแลอยู่ในเวลานั้น ประกาศยุบวัด ตามประกาศของกระทรวง ศึกษาธิการเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พุทธศักราช2539 ถือเป็นการหายไปของวัดพระยาไกรอย่างสมบูรณ์ และทิ้งไว้เพียงชื่อเท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้วัดพระยาไกรถูกกล่าวขานเรียกถามหาแม้แต่จะไม่มีวัดหลงเหลืออยู่แล้วก็ตาม คือพระพุทธรูปสององค์ ที่มีประวัติและการค้นพบอันน่าทึ่ง โดยพระพุทธรูปทั้ง2องค์นี้ ได้มาอยู่ที่วัดพระยาไกรตั้งแต่สมัยยังเป็นอารามเล็กๆ ก่อนจะถูกสร้างและปฎิสังขรโดยพระยาไกรโกษา โดยการได้มานั้น เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้นำพระพุทธรูปที่อยู่ตามวัดเก่าหัวเมืองทางเหนือ นำมาประดิษฐานไว้ยังวัดในเขตพระนครโดยการลอยน้ำมา ในครั้งนั้น ท่าน้ำอารามเก่าแห่งนี้ ก็มีพระพุทธรูปมาติดที่ท่าน้ำด้วยเช่นกันถึง2องค์ เมื่อครั้งสร้างและบูรณะวัดแล้วเสร็จ จึงอัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ แยกประดิษฐานไว้ มีองค์หนึ่งอยู่ในพระอุโบสถ อีกองค์หนึ่งประดิษฐานไว้ในวิหารของวัดพระยาไกร



ตำนานที่มีอายุมากกว่า200ปี แม้จะไม่เหลือวัดให้เป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธและคนในพื้นที่แล้วก็ตาม อาจเรียกได้ว่า เป็นวัดที่เหลือแต่ชื่อ ก็คงไม่ผิด ด้วยเหตุผลเงื่อนไขของเวลา หรือสิ่งอื่นใด แต่ในปัจจุบัน วัดพระยาไกร ยังถูกเรียกเป็นสถานที่ประหนึ่งว่ามีวัดตั้งอยู่ ดังปรากฏตั้งชื่อเป็นแขวงการปกครองหนึ่งของกรุงเทพมหานคร ในชื่อ "แขวงวัดพระยาไกร" และเป็นชื่อของหน่วยงานราชการ อาทิเช่น สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ที่ทำการไปรษณีย์วัดพระยาไกร รวมถึงท่าเรือด่วนแม่น้ำเจ้า ท่าน้ำวัดพระยาไกร เปิดให้บริการ และพบเห็นได้ในปัจจุบัน



เรียบเรียง โดย พุดตาน

pudtanthai@gmail.com

ติดตามชมวีดีโอ ได้ที่ Youtube ของเราได้นะครับ

 

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้