Last updated: 23 พ.ย. 2564 | 3016 จำนวนผู้เข้าชม |
เยือน!!ถิ่นคนมอญ ตลาดคลองสามวา
ผู้เขียนชอบเดินตลาด ตอนเช้าทำบุญตักบาตรแล้วต้องปั่นจักรยานไปตลาด ตอนเย็นก็ยังไปตลาดนัดอีกครั้ง ไม่มีอะไรจะซื้อแต่ก็ไป ขอให้ได้ไปเดินดูของดูคน คุยกับคนขายคนซื้อ ดูความเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นชีวิตก็เลยผูกพันอยู่กับตลาด
• Max Webber นักคิด นักวิชาการชาวเยอรมัน เสนอแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นเมืองของชุมชนไว้ว่า “ชุมชนที่จะเรียกว่า เป็นเมือง (urban) ได้นั้น ประกอบด้วย ตลาด เพราะว่าตลาด คือ สัญลักษณ์ของความเป็นเมือง เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตชุมชน ที่ได้พัฒนาถึงขั้นมีการแบ่งงานกันทำ เกิดเป็นอาชีพต่างๆ”
• ขณะเดียวกัน ชีวิตสังคมของชุมชนจะเกิดการแบ่งแยกหรือคล้อยตามชีวิตเศรษฐกิจ ผู้คนเกิดความแตกต่างทางความคิดและเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน
• และเมื่อไรก็ตามที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าขึ้นก็จะส่งผลให้ชุมชนนั้นมีชีวิต เศรษฐกิจคึกคัก มีการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนของสินค้าและเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภคหลากหลายมากขึ้น และวิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นก็จะแตกต่างไปจากชีวิตดั้งเดิม
• ดังนั้น “ตลาด” จึงเป็นสัญลักษณ์ของเมือง เป็นส่วนประกอบหนึ่งของเมืองหรือชุมชน
อย่างที่ทราบ เขตคลองสามวาชนพื้นเมืองดั้งเดิมจะเป็นชาวมอญกับมุสลิมจากชายแดนภาคใต้ ชาวมอญจะอยู่ริมคลอง บ้านชั้นเดียว ทำนาทำสวน วิถีชีวิตดั้งเดิม วัดก็จะเป็นวัดมอญ ชื่อวัดก็เขียนด้วยภาษามอญ ส่วนกลุ่มมุสลิมก็จะมีชุมชนของเขา มี รร.สุเหร่า อยู่คนละฟากถนน อยู่ริมคลองเหมือนกัน ทำนาทำสวนเหมือนกัน แต่คนมอญจะค้าขายมากกว่าคนมุสลิม
คนมอญจะปลูกผักมาวางขายเอง ผักปลอดสาร ดูหน้าคนขาย ลูกสาวโตจนมีหลานเรียนมหาวิทยาลัย ป้าก็ยังดูสาวสวยอยู่เลย สุขภาพกายและใจดีมากๆ ผู้เขียนเป็นลูกค้าประจำ ป้าจะยืนยันการันตีผักปลอดสารแน่นอน 100% กินแล้วไม่มีเจ็บไม่มีป่วย คนมอญอีกรายจะขับรถไถขนกล้วยขนผักมาขาย จะไม่มาขายทุกวัน ขายวันเสาร์-อาทิตย์ วันโกณ-วันพระ ขายดี ผักปลอดสาร ผักสดๆจากสวน ขนมาเท่าไหร่ก็ขายหมด
บางครั้งผู้เขียนจะเรียกแบบนี้ว่า ตลาดทางเลือก (alternative markets) เป็นช่องทางสำคัญในการกระจายสินค้า เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะระบบอาหารท้องถิ่น ซึ่งหมายถึง อาหารผลิตในระยะทางที่ใกล้ที่สุดที่จะใกล้ได้ โดยตลาดทางเลือกจะเป็นตัวกลางให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีโอกาสพบกัน จากรายงานวิจัยที่เผยแพร่ใน New Economics Foundation ปี 2002 พบว่า
• ถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในท้องถิ่นโดยตรงจะสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้มากถึง 2.5 เท่า
• ในขณะที่หากผู้บริโภคจับจ่ายผ่านห้างสรรพสินค้า รายได้ดังกล่าวจะหมุนเวียนกลับไปสู่ท้องถิ่นเพียง 1.4 เท่า
และรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Food Distribution Research ปี 2007 พบว่า
• ผู้บริโภคจะเลือกจับจ่ายในตลาดที่ไม่ห่างไกลจากชุมชนมากเกินไป ใช้เวลาเดินทางจากบ้านไปตลาดไม่เกิน 30 นาทีเท่านั้น
บ้านผู้เขียนอยู่ห่างจากคลองสามวาประมาณ 80 เมตร จากบ้านเดินผ่านสวนกล้วยก็จะถึงตัวคลอง ชีวิตริมคลองก็ยังเป็นแบบดั้งเดิม ชาวบ้านก็ยังหาปลา เก็บผักบุ้ง พาเรือกันอยู่เลย เป็นแบบนี้ตั้งแต่ย้ายมาอยู่ครั้งแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พระออกบิณฑบาตตอนเช้าก็จะเดินริมคลอง เดินผ่านสวนกล้วยเข้าท้ายซอยหมู่บ้าน เดินผ่านออกถนนใหญ่กลับวัด
วิถีชีวิตคนมอญริมคลองสามวา ยังคงเหนียวแน่นกับชีวิตเดิมๆ ทำมาค้าขายเล็กๆน้อยๆ ปลูกผัก เก็บผักมาขาย ราคากำละ 5 บาท 10 บาท ขายได้วันละ 200-300 บาทก็ยังมาขาย คนซื้อก็ชอบซื้อด้วย ยุคนี้ยิ่งปลอดสาร ปลูกเองขายเอง คนยิ่งชอบ เก็บสดๆ ใหม่ๆ เก็บตี 5 พอ 6 โมงก็เอาออกมาวางขาย ยังไงก็ขายได้
การค้าขายยุคใหม่ ศูนย์กลางการค้าไม่ได้อยู่ที่ตัวสินค้าอย่างที่เคยเป็นในอดีต แต่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา
• ศูนย์กลางของคุณค่าที่เคยพิจารณาที่ตัวสินค้าหรือบริการจะเปลี่ยนมาอยู่ที่ประสบการณ์ที่คนซื้อแต่ละคนได้รับ เรียกว่า ความประทับใจ
• ทำให้คนปลูกและคนขาย มีส่วนร่วมกับคนซื้อในการสร้างคุณค่าสำหรับการบริโภคอย่างจริงจัง
• ส่งผลให้คนซื้อมีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าและอาศัยประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรที่หลากหลาย
• ไม่ยึดติดยี่ห้อ ยึดติดคนผลิต หรือยึดติดคนขาย แต่จะมองที่คุณค่าที่ตนเองได้รับมากขึ้น
หากวิถีชีวิตดั้งเดิมยังคงเหนียวแน่น "One Community One Market หนึ่งชุมชนหนึ่งตลาด” ก็ยังจำเป็นต้องมี เพื่อให้ประชาชนสามารถดำเนินชีวิตตามฐานานุรูปของตน ดังคำกล่าวที่ว่า “ทำการศึกโดยไม่ใช้กระบี่ การตลาดที่ดีที่สุดคือไม่ต้องทำการตลาด การบอกต่อจึงเป็นสุดยอดของการตลาด (word of mouth viral marketing) เป็นการสื่อสารทางการตลาดที่มีประสิทธิผลที่สุด”
4 ธ.ค. 2563
4 ธ.ค. 2563
3 ธ.ค. 2563