ว่าด้วยเรื่องของ ดาวเรือง ดอกไม้ถวายพระ

Last updated: 23 พ.ย. 2564  |  2369 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ว่าด้วยเรื่องของ ดาวเรือง ดอกไม้ถวายพระ

ว่าด้วยเรื่องของ ดาวเรือง ดอกไม้ถวายพระ

อย่างที่เคยเขียนไว้ว่า ฉันชอบดอกไม้และปลูกดอกไม้ตั้งแต่เด็กๆ โดยเฉพาะดาวเรือง ปลูกง่าย ออกดอกเร็ว และอยู่นาน เมื่อปี 2554-2555 ฉันมีโอกาสศึกษาวิจัยตลาดไม้ดอกของไทย ครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมชมสวนไม้ดอกไม้ใบในหลายจังหวัด ไปถึงสวนไปคุยกับชาวสวน ติดตามชาวสวนตั้งแต่ดอกอยู่บนต้นจนถึงปากคลองตลาด 

1. ดอกดาวเรือง : จากดินสู่หิ้ง

• ดาวเรือง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Marigold มาจากคำว่า ใช้เป็นดอกไม้หน้าแท่นบูชาพระนางแมรี พันธุ์ดั้งเดิมมีเพียงดอกสีเหลืองเท่านั้น จึงเรียกว่า Mary’s gold ต่อมาเพี้ยนเป็น Marigold
• ดาวเรือง ชื่อทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า Tagetes erecta L. เป็นพืชที่ต้องการแสงแดดจัด ระยะตัดดอก 60-90 วัน 
• ประเทศไทยเรียกชื่อเหมือนๆ กัน ยกเว้นทางภาคเหนือเรียกว่า คำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง 
• ดาวเรืองมีถิ่นกำเนิดอยู่ทางประเทศเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะแผ่ขยายไปทางยุโรปและกลายเป็นพืชเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งไทยด้วย 
• ดาวเรืองมีหลายสายพันธุ์ทั้งดอกใหญ่ ดอกเล็ก ทั้งพันธุ์ไทยและพันธุ์ต่างชาติ 
• ประเทศไทยนำเมล็ดพันธุ์จากชาติใดเข้ามาปลูกในครั้งแรกนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่ในปี 2510 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้เมล็ดพันธุ์ดาวเรืองที่นำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาปลูกในแปลงสาธิตการเกษตร  


• ไม่ว่าดาวเรืองจะสายพันธุ์ใดก็ตาม สีของดอกดาวเรืองก็ไม่ทิ้งลายสีเหลือง-ส้ม-แดง 
• คนไทยชื่นชอบพันธุ์สีเหลืองดอกใหญ่ เพราะเป็นดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 9 
• คนไทยเชื่อว่า สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความสว่างไสว
• จึงให้ความสำคัญกับดอกดาวเรืองว่าเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจ 1 ใน 6 ของไทย สร้างงานสร้างรายได้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนปีละหลายพันล้านบาท จัดว่าเป็นต้นไม้มงคล ควรปลูกเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
• ที่สำคัญ วันพระ และวันสำคัญทางพุทธศาสนา ชาวไทยพุทธนิยมนำมาจัดดอกไม้ถวายพระ หรือร้อยพวงมาลัยบูชากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
• นอกจากนี้ในทางการเมือง ดอกดาวเรืองมีความสำคัญเช่นเดียวกัน ในการหาเสียงของนักการเมืองหรือการต้อนรับบุคคลสำคัญ คนไทยนิยมนำพวงมาลัยดอกดาวเรืองมาคล้องคอ หรือคล้องแขน  

2. ปลูกดาวเรืองตัดดอกขาย-ออเดอร์ทะลัก-รับทรัพย์ปีละล้าน

• พาดหัวข่าวแบบนี้ มีให้เห็นบ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันลอยกระทง วันขึ้นปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน 
• ช่วงเลือกตั้งสร้างรายได้ให้ชาวสวนดาวเรืองและร้านขายพวงมาลัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยรายงานผลสำรวจช่วงเลือกตั้งปี 2554 เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจร้อยพวงมาลัยดอกดาวเรืองประมาณ 53 ล้านบาท 
• ช่วงนั้นมีระยะเวลาหาเสียง 20 วัน ชาวสวนและคนขายพวงมาลัยต่างโอดโอยอยากให้ กกต. กำหนดระยะเวลาหาเสียงมากกว่า 20 วัน 
• เพราะดอกดาวเรืองมีระยะเวลาตัดดอกประมาณ 20-30 วัน หากกำหนดได้ ชาวสวนก็วางแผนปลูกดาวเรืองได้เพียงพอต่อความต้องการ 
• เม็ดเงินสะพัด 53 ล้านบาท มากกว่าช่วงเลือกตั้งปี 2550 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปลายปี 2550 เม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจร้อยพวงมาลัยดอกดาวเรืองประมาณ 30 ล้านบาทเท่านั้น


 
• เดือนสิงหาคม ปี 2561 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานสถานการณ์ไม้ดอกของไทยว่า เกษตรปลูกดาวเรืองและมะลิจะขายดี ทำรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี 
• ปี 2560 ปริมาณผลผลิตดอกมะลิ 1,448 ตัน มูลค่าผลผลิต 288.152 ล้านบาท และดาวเรือง 1,118 ตัน มูลค่าผลผลิต 595.52 ล้านบาท 
• ความต้องการใช้ดอกดาวเรืองมีปริมาณค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี เกษตรกรคำนวณพื้นที่ปลูกและระยะเวลาตัดดอกขายได้ ทำให้มีกำไร ไม่เสี่ยงขาดทุน ที่สำคัญปล่อยออกขายได้ง่าย 
• พื้นที่ปลูกดาวเรืองตัดดอกของไทยพบมากในกรุงเทพฯรอบนอก ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
• การทำเกษตรยุคใหม่ ชาวสวนจะเข้าหาพ่อค้าคนกลางหรือส่งตรงให้ร้านขายพวงมาลัย เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้ขายไม่ออกและขาดทุน 
• พ่อค้าบางรายนำเมล็ดพันธุ์ไปให้ชาวสวนโดยตรง ปลูกแล้วตัดดอกขายให้กับตนเอง รับซื้อในราคาตกลงกันไว้ ทำให้ชาวสวนดาวเรืองมีรายได้แน่นอน และมีกำลังใจที่จะปลูกดาวเรืองส่งขายต่อไป 
• นอกจากนี้ ชาวสวนดาวเรืองต้องบริหารความเสี่ยงให้กับตนเองด้วย เช่น ปลูกไม้ดอกชนิดอื่นที่ใช้คู่กับดาวเรืองส่งขายร้านค้าด้วย จำพวกดอกรัก ต้นเตย จำปี บานไม่รู้โรย ก็จะเพิ่มมูลค่าให้กับสวนของตนด้วย  

• ผู้เขียนเคยเรียนจัดดอกไม้ตอนที่เปิดร้านขายดอกไม้ พวงมาลัย ของไหว้ ที่ตลาดศรีเมืองราชบุรี ทำให้รู้ว่าชาวสวนต้องปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ใช้ร่วมกันได้ เพื่อให้พ่อค้าซื้อจากสวนเดียวได้ครบทุกอย่าง 
• ถ้าปลูกได้เพียงบางชนิด เช่น ปลูกได้เฉพาะดาวเรือง ก็ควรบริหารจัดการความเสี่ยงดีๆ โดยเฉพาะเมืองไทยสภาพดินฟ้าอากาศไม่แน่นอน อาจทำให้ขาดทุนและจะพลอยท้อแท้ไม่อยากปลูกอีกต่อไป

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : คณะภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์                           
                                   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้